โรคเบาหวานกับการทำ IF เป็นเบาหวานทำ IF ได้ไหม? ต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย
โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรังหลายปีมีสาเหตุจากการทำงานผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด อย่างไรก็ตามสามารถควบคุมระดับความรุนแรงของโรคเบาหวานได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ร่วมไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยหนึ่งในวิธีควบคุมโภชนาการที่ถูกพูดถึงในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานคือการทำ IF (Intermittent Fasting) เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ บทความนี้จาก Healthy and Me ชวนดูข้อมูลน่าสนใจ เป็นเบาหวานทำ IF ได้ไหม? IF รักษาเบาหวานได้จริงหรือเปล่า? พร้อมข้อควรระวังที่ควรทราบก่อนการตัดสินใจทำ IF ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เกิดจากอะไร มีกี่ชนิด?
ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาหลักว่าเป็นเบาหวานแล้วทำ if ได้ไหม เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานกันให้ดีมากขึ้นสักเล็กน้อย โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลาซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่หลั่งมาจากตับอ่อน โดยสามารถแบ่งโรคเบาหวานได้ 4 ชนิด ได้แก่
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของจำนวนผู้ป่วย
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) พบได้มากถึงร้อยละ 95-97 ของจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน มีภาวะโรคอ้วน ขยับร่างกายน้อยหรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
- โรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะเบาหวานที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และสามารถหายได้หลังคลอดบุตร
- โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นจากสาเหตุจำเพาะ ทั้งจากความผิดปกติของตับอ่อนและความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินหลังการใช้ยาบางชนิด
โดยโรคเบาหวานทั้ง 4 ชนิด มีวิธีในการรักษาและควบคุมอาการของโรคให้อยู่ในระยะสงบที่แตกต่างกันออกไปทั้งการรักษาด้วยการใช้ยาทาน การฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนัง การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเหมาะสม เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีนไขมันต่ำ อาหารที่มีไฟเบอร์สูง (Fiber) ผัก/ผลไม้พร่องแป้ง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไขมันทรานส์และน้ำตาลสูงตลอดไปจนถึงการทำ IF เพื่อช่วยควบคุมโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระยะสงบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ป่วยโรคเบาหวานทำ IF ได้ไหม
การทำ IF (Intermittent Fasting) คือ การจำกัดช่วงเวลาในการกินอาหาร (Feeding) และช่วงเวลาที่ต้องอดอาหาร (Fasting) สับเปลี่ยนกันไปอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาต่างๆ เช่น การทำ IF12/12 16/8 20/4 23/1 หรือการอดอาหารแบบวันเว้นวัน 5:2 เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและฮอร์โมนอินซูลินในเลือดให้น้อยลงและเปิดโอกาสให้ร่างกายดึงเอาไขมันสะสมมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทำ IF ได้ไหม?คำตอบคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ต้องใช้ยาทานหรือฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังสามารถทำ IF ควบคู่กันไปกับการรักษาโรคเบาหวานด้วยวิธีอื่นๆ ได้โดยที่ทำให้เกิดภาวะความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ก่อนเริ่มทำ IF ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อตัดสินใจเลือกรูปแบบการทำ IF ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายตลอดไปจนถึงการวางแผนปรับยารักษาโรคเบาหวานให้สอดคล้องกับการทำ IF ที่ต้องทานและหยุดทานอาหารเป็นช่วงๆ ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือโรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ มีความจำเป็นที่จะได้ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมและอาจไม่เหมาะกับการทำ IF เพราะเป็นการพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ได้บ่อยครั้ง
วิธีทำ IF อย่างปลอดภัยในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่กำลังสนใจอยากเริ่มทำ IF เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและฮอร์โมนอินซูลินในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้อาการของโรคเข้าสู่ระยะสงบได้เร็วขึ้น ควรมีวิธีการทำ IF อย่างปลอดภัย ดังนี้
- ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเริ่มทำ IF เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าสามารถเริ่มทำ IF ได้อย่างปลอดภัย และทำการปรับขนาดของยาที่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของการทานอาหารเป็นช่วงเวลา
- เพื่อให้มั่นใจว่าคุณได้รับสารอาหารจำเป็นอย่างครบถ้วนและเหมาะสมกับอาการของโรคควรขอรับคำปรึกษาจากนักกำหนดโภชนาการเพื่อวางแผนมื้ออาหารให้ถูกหลักด้วยการเน้นอาหารกลุ่มโปรตีนไม่ติดมันเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ผักใบเขียวที่มีไฟเบอร์สูง ลดการบริโภคน้ำตาลและไขมันมากเกินจำเป็นรวมไปจนถึงการจัดมื้ออาหารอย่างสมดุล ไม่กินจุบจิบตลอดเวลาในช่วงที่ต้องกินอาหาร (feeding)
- ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกๆ 2-4 ชั่วโมงโดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานเริ่มทำ IF หากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มก.ดล.
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ
ในระหว่างที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานทำ IF ควรงดเว้นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เช่น การออกกำลังกายหนักๆ การวิ่ง การยกของ ขนของ เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ตัวสั่นและอาจทำให้อวัยวะภายในล้มเหลวจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ข้อดีของการทำ IF อย่างถูกต้องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- การทำ IF อย่างถูกวิธีภายใต้คำแนะนำดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลและฮอร์โมนอินซูลินในเส้นเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ช่วยในการลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินร่วมด้วย
- ช่วยลดความรุนแรงของภาวะดื้ออินซูลิน กระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้ดีขึ้น
- การทำ IF ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีส่วนช่วยในการควบคุม Hemoglobin A1c (ฮีโมโกลบินเอวันซี) ซึ่งเป็นระดับน้ำตาลสะสมในเลือดภายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาให้อยู่ในระดับปกติ
ข้อควรระวังสำหรับการทำ IF ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- การอดอาหารและทานอาหารเป็นช่วงๆ อาจทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลต่ำรวมไปจนถึงภาวะน้ำตาลสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวผู้ป่วยมีภาวะข้างเคียงอื่นๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย มีอาการหิวอย่างรุนแรงหรืออาจทำระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักโภชนาการทุกครั้งก่อนเริ่มทำ IF
- การทำ IF เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นโดยไม่ใช่วิธีการรักษาหลัก ไม่สามารถใช้วิธีการทำ IF เพื่อรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดได้
ในช่วงที่สามารถรับประทานอาหาร (Feeding) ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และไม่อดอาหารหรือทานน้อยจนเกินไป สำหรับช่วง Fasting จะต้องหยุดกินอาหารทุกชนิดและสามารถดื่มเครื่องดื่มปราศจากแคลอรีได้ เช่น น้ำเปล่า โซดา ชาเขียวหรือกาแฟไม่มีคาเฟอีน
สรุป
การทำ IF ด้วยการจำกัดเวลาในการกินและอดอาหารสลับกันไปเป็นช่วงๆ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและฮอร์โมนอินซูลินในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ เป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลสุขภาพที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถทำร่วมกับการรักษาหลักได้ โดยมีข้อแนะนำว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถทำ IF ร่วมกับการใช้ยาหรือฉีดอินซูลินได้อย่างปลอดภัยแต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักโภชนาการอาหาร เพื่อการวางแผนปรับใช้ยาให้สอดคล้องกับลักษณะการทานอาหารและกำหนดโภชนาการที่ได้รับอย่างถูกต้องเหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น ภาวะน้ำตาลต่ำหรือน้ำตาลสูงอย่างรวดเร็ว ภาวะขาดสารอาหารจากการรับประทานน้อยเกินไปหรือพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ (Eating disorder) ฯลฯ ข้อดีของการทำ IF ในผู้ป่วยโรคเบาหวานคือ อาจมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลและฮอร์โมนอินซูลินในเลือด ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินรวมถึงช่วยควบคุม Hemoglobin A1c ทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบและส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
สำหรับผู้ที่มีภาวะโรคเบาหวานที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังไม่มั่นใจว่าควรเริ่มต้นควบคุมหรือวางแผนโภชนาการอย่างไรจึงจะปลอดภัยและเหมาะสม คลิกที่นี่ เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก Healthy and Me ช่วยดูแลและปรับโภชนาการเพื่อการดูแลสุขภาพออกแบบเฉพาะรายบุคคล มีการวิเคราะห์ข้อมูลร่างกาย ประเมินปัญหาสุขภาพอย่างละเอียดให้คุณมีสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืนหรือแอดไลน์ @healthyandme https://lin.ee/VQ4Qx18 เพื่อติดตามข้อมูล ข่าวสารสุขภาพที่น่าสนใจได้อยู่เสมอ
Ref.
https://www.medicalnewstoday.com/articles/intermittent-fasting-type-2-diabetes#suggested-benefits
https://www.health.com/intermittent-fasting-for-diabetes-8348041