ลดน้ำหนักด้วยการใช้ยา กินยาลดความอ้วนแล้วโยโย่เป็นอีกหนึ่งวงจรการลดน้ำหนักแบบไม่รู้จบที่พบได้ค่อนข้างบ่อย หลายคนอาจเริ่มลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพด้วยการควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย แต่ในทางกลับกันมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกทางลัดและลดน้ำหนักด้วยการใช้ยาลดความอ้วนเพื่อลดน้ำหนักตัวลงอย่างรวดเร็วจนในท้ายที่สุดก็พบกับภาวะโยโย่เอฟเฟกต์เมื่อหยุดใช้ยา น้ำหนักพุ่งกลับมาแบบไม่ทันตั้งตัวพร้อมสารพัดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ Healthy and me ชวนไขข้อสงสัย กินยาลดความอ้วนแล้วโยโย่ เกิดจากอะไร? พร้อมวิธีแก้โยโย่จากยาลดความอ้วน

กินยาลดความอ้วนแล้วโยโย่ เกิดจากอะไร?

โยโย่ เอฟเฟกต์ (Yoyo Effect) คือ สภาวะที่น้ำหนักตัวเด้งกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วเนื่องจากการลดน้ำหนักด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมอย่างการจำกัดปริมาณแคลอรีให้น้อยมากๆ การอดอาหาร รวมไปจนถึงการกินยาลดความอ้วนซึ่งเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่อันตรายและกระตุ้นให้เกิดภาวะโยโย่เอฟเฟกต์ได้ดังนี้

ระบบเผาผลาญทำงานได้ช้าลง

 ระบบเผาผลาญพัง เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วยาลดความอ้วนมักมีส่วนผสมของสารอันตรายที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เราไม่รู้สึกหิว เบื่ออาหารและทานได้น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อใช้ยาลดน้ำหนักติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะขาดสารอาหารและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด (Survival Mode) ด้วยการลดระดับการเผาผลาญให้น้อยลงเพื่อสงวนพลังงานเอาไว้ให้มากที่สุด

มวลกล้ามเนื้อลดลง (Muscle Loss)

การใช้ยาลดน้ำหนักมักส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยมวลน้ำหนักที่สูญเสียไปนั้นไม่ใช่แค่เพียงไขมัน (Fat) แต่เป็นมวลกล้ามเนื้อ (Muscle) ที่หายไปด้วย จึงเป็นสาเหตุให้ร่างกายขาดความแข็งแรง สัดส่วนหย่อนย้วยไม่กระชับและเมื่อมวลกล้ามเนื้อน้อยลงอัตราการเผาผลาญขณะพัก (Resting metabolic Rate:RMR) ก็จะลดต่ำไปด้วย

ฮอร์โมนเสียสมดุล

การกินยาลดยาลดความอ้วนในระยะยาวอาจส่งผลทำให้ฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนักเสียสมดุลทั้งฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ฮอร์โมนความหิว (Ghrelin) ฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Hormone) ที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ฯลฯ เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้เสียสมดุลจะส่งผลทำให้การลดน้ำหนักหรือการรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นได้ในระยะยาว

ร่างกายสะสมไขมันมากขึ้น

การกินยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ทำให้เรากินน้อยลงส่งผลให้ร่างกายเริ่มสงวนพลังงานสำรองไว้ในรูปแบบไขมัน (Fat) มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เราหยุดใช้ยาลดน้ำหนักและกลับมากินเหมือนเดิม ร่างกายจะเผาผลาญอาหารเหล่านั้นได้น้อยมากและจะเร่งเก็บสะสมพลังงานสำรองเอาไว้ในรูปของไขมันโดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) ที่ลดได้ยากและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ภาวะโยโย่อันตรายต่อสุขภาพของเราอย่างไร

ในช่วงแรกของการใช้ยาลดน้ำหนักอาจพบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาลดน้ำหนักจนทำให้เกิดภาวะโยโย่อาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของเรา ดังนี้

  • ทำให้มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ (Eating Disorder) เพราะกลับมากินมากเกินไปหลังหยุดใช้ยาลดความอ้วน
  • ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพส่งผลให้ควบคุมน้ำหนักตัวได้ยาก
  • ความแข็งแรงของร่างกายลดลงเพราะมีมวลกล้ามเนื้อน้อย
  • มีไขมันสะสมมากขึ้นโดยเฉพาะไขมันหน้าท้องซึ่งเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ
  • ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้เป็นคนขาดความมั่นใจเพราะรู้สึกไม่ชอบรูปร่างของตนเอง

วิธีแก้โยโย่จากยาลดความอ้วน

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังเวียนวนอยู่ในวงจรการลดน้ำหนักแบบไม่รู้จบ เกิดภาวะโยโย่หลังการใช้ยาซ้ำไปซ้ำมาหรือมีปัญหาน้ำหนักตัวนิ่ง ข่าวดีก็คือเราสามารถหยุดวงจรการลดน้ำหนักที่ผิดวิธีและแก้อาการโยโย่จากยาลดความอ้วนได้ด้วยวิธีเหล่านี้

เลิกกินยาลดความอ้วนในทันทีและไม่กลับมาใช้อีก

จุดสำคัญของการเริ่มต้นคือการเลิกใช้ยาลดความอ้วนหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักที่ใช้อยู่ทุกชนิดเพื่อให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายกลับมาทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง สำหรับกลุ่มที่ใช้ยาลดน้ำหนักในปริมาณมากควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับแนวทางหยุดใช้ยาลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย

ให้ความสำคัญกับการควบคุมอาหาร

ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นไปที่อาหารกลุ่มโปรตีนให้ได้อย่างน้อย 1-1.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต  ข้าวโอ๊ต ธัญพืชและถั่วต่างๆ รวมไปจนถึงไขมันดี เพิ่มผักและผลไม้ลดความอ้วนในทุกมื้ออาหารเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารหลัก วิตามินและเกลือแร่อย่างครบถ้วน

ไม่อดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อเช้าที่เป็นการเติมพลังงานล้อตแรกให้กับร่างกายหลังผ่านการอดอาหารมาเกือบ 10 ชั่วโมง และควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อหรืออาจเปลี่ยนมากินเป็นมื้อเล็กๆ ประมาณ 4-5 มื้อต่อวันเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญและป้องกันการกินอาหารเยอะเกินไปในบางมื้อที่เรารู้สึกหิวมากๆ

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรีสูงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ

เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยแป้งและน้ำตาล ขนมหวาน เบเกอรี่ ฟาส์ต์ฟู้ด อาหารขยะ (Junk food) เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็นจนทำให้มีไขมันสะสมมากขึ้น

ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อย 1.5-2 ลิตร/วัน

การเติมน้ำให้ร่างกายอย่างเพียงพอมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญ จากผลการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ที่ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 0.5 ลิตร ส่งผลให้อัตราการเผาผลาญขณะพักเพิ่มขึ้นร้อยละ 24-30% ภายใน 10 นาทีหลังดื่มน้ำ นอกไปจากนี้การดื่มน้ำสะอาด 1-2 แก้วก่อนมื้ออาหารยังช่วยลดความรู้สึกอยากอาหารส่งผลให้ปริมาณแคลอรีที่ได้รับต่อมื้อน้อยลงไปในตัว

เพิ่มการออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงต้าน (Resistance Training) เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อทำให้อัตราการเผาผลาญกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ควรกำหนดให้มีวันพักประมาณ 1-2 วัน/สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ร่างกายรู้สึกเครียดมากเกินไป

พักผ่อนให้เพียงพอและบริหารความเครียดอย่างเหมาะสม

ควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกายได้อย่างเต็มที่ จัดการความเครียดให้เหมาะสม ไม่เครียดมากเกินไปในช่วงที่ต้องจัดการกับภาวะโยโย่หลังใช้ยาลดความอ้วน เลิกหมกมุ่นกับตัวเลขบนตาชั่งและมองความเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนเป็นหลัก ทำจิตใจให้สงบ ฝึกเล่นโยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือหรือออกไปเดินเล่น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกเครียดมากเกินไปร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ทำให้เรารู้สึกหิวและกินมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารที่มีพลังงานสูง

สรุป 

การกินยาลดความอ้วนเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ให้ผลลัพธ์แค่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และอาจทำให้เกิดภาวะโยโย่หลังจากหยุดใช้ยาเนื่องจากยาลดน้ำหนักออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เราไม่รู้สึกหิวและกินน้อยมาก ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญทำงานได้ช้าลง มวลกล้ามเนื้อสลาย ฮอร์โมนเริ่มเสียสมดุลและร่างกายสะสมไขมันเพิ่มขึ้นจนทำให้น้ำหนักตัวเด้งกลับมาเท่าเดิมอย่างรวดเร็ว ป้องกันปัญหาโยโย่เอฟเฟกต์ด้วยการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี เลือกกินอาหารให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ สร้างผลลัพธ์การดูแลสุขภาพแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างยั่งยืน

สำหรับใครที่เจอปัญหาโยโย่หลังการกินยาลดน้ำหนักหรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวค้างจากการลดน้ำหนักที่ผิดวิธีและลองหาวิธีแก้อาการโยโย่ด้วยตนเองมาแล้วแต่ไม่เห็นผล ก็อาจถึงเวลาที่ต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านการลดน้ำหนักและโภชนาการเพื่อวางแผนการลดน้ำหนักที่ช่วยแก้ภาวะโยโย่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อร่างกายในระยะยาว คลิกที่นี่ เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรูปร่างและโภชนาการจาก Healthy and Me ช่วยดูแลและปรับโภชนาการเพื่อการลดน้ำหนักที่เหมาะสมยิ่งกว่า ให้คุณมีสุขภาพที่แข็งแรง มีหุ่นในฝันได้ไวยิ่งขึ้นติดตามทริกลดหุ่นหลากหลายแบบ เหมาะกับทุกสไตล์ในแบบชิลๆ เพียงแอดไลน์ @healthyandme

Ref:

https://www.verywellfit.com/what-is-yo-yo-dieting-how-to-stop-the-cycle-6452558

https://www.myjuniper.co.uk/articles/yo-yo-dieting

https://www.everydayhealth.com/wellness/state-of-resilience/yo-yo-dieting-how-avoid-weight-loss-regain/

https://www.livestrong.com/article/13720977-yo-yo-dieting-affects/

Recommended Posts

โค้ชสุขภาพ ผู้ช่วยลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่า

โค้ชสุขภาพ (Health Coach) ผู้ช่วยดูแลการลดน้ำหนักและปรับเปลี่ยนสุขภาพให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจที่ดี หากคุณเป็นอีกคนที่กำลังพยายามลดน้ำหนัก […]

กินยาลดความอ้วนแล้วโยโย่ จริงไหม? เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้โยโย่หลังการใช้ยาลดความอ้วน

ลดน้ำหนักด้วยการใช้ยา กินยาลดความอ้วนแล้วโยโย่เป็นอีกหนึ่งวงจรการลดน้ำหนักแบบไม่รู้จบที่พบได้ค่อนข้างบ่อย หลายคนอาจเริ่มลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพด้วยการควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย แต่ในทางกลับกันมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกทางลัดและลดน้ำหนักด้วยการใช้ยาลดความอ้วนเพื่อลดน้ำหนักตัวลงอย่างรวดเร็วจนในท้ายที่สุดก็พบกับภาวะโยโย่เอฟเฟกต์เมื่อหยุดใช้ยา น้ำหนักพุ่งกลับมาแบบไม่ทันตั้งตัวพร้อมสารพัดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ […]